กฎเกณฑ์ใหม่ของบัตรเครดิต และสินเชื่อเงินสดที่ต้องรู้

กฎเกณฑ์ใหม่ของบัตรเครดิต และ สินเชื่อเงินสดที่ต้องรู้ ตามประกาศ ธปท.

วงเงินอนุมัติบัตรเครดิต สำหรับคนที่มีบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด หรือบัตรกดเงินสด รวมทั้งคนที่กำลังจะสมัครบัตรเหล่านี้  ตั้งแต่วันที่ 1กันยายน 2560 เป็นต้นไป ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ  ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ของลูกค้าใหม่ หลายข้อ ได้แก่

  • การกำหนดวงเงินผู้ขอมีบัตรเครดิต เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ หากมีมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จะได้รับอนุมัติวงเงินไม่เกิน  5 เท่าของรายได้
  • ถ้ามีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาทขึ้นไป จะได้รับอนุมัติวงเงินไม่เกิน 3 เท่าของรายได้ และรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป  ได้รับวงเงินไม่เกิน 5 เท่า แต่ในส่วนของลูกค้าเก่าจะไม่ได้รับผลกระทบ
  • มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตเหลือ 18% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีผลกับผู้ถือบัตรเครดิตทั้งรายเดิมและรายใหม่ เพื่อลดปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวในภาพรวม
  • การกำหนดวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล แก่ผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ได้รับวงเงินไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ ส่วนผู้มีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป อนุมัติวงเงินให้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ และสามารถขอสินเชื่อสูงสุดจากธนาคารได้ 3 สถาบันเท่านั้น จากเดิมที่ไม่ได้กำหนด  โดยยังคงเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ 28% เท่าเดิม

ความเปลี่ยนแปลงนี้ มีข้อดีอย่างไร?

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ลดลงเหลือ 18% ต่อปี ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจของคนที่กำลังเลือกว่าจะทำบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด ?  และส่วนใหญ่ก็คงเลือกทำบัตรเครดิตกันอย่างไม่ลังเล ถ้ามีคุณสมบัติครบ เพราะนอกจากอัตราดอกเบี้ยจะลดลงแล้ว การปรับวงเงินอนุมัติแบบใหม่ ก็จะมีส่วนช่วยในการควบคุมค่าใช้จ่ายของผู้ถือบัตรได้ระดับหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา บางคนใช้บัตรเครดิตรูดจนเพลินและก่อหนี้สินจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากวงเงินอนุมัติที่ค่อนข้างสูง เช่น เงินเดือน 20,000 แต่ได้อนุมัติ 80,000 หากใช้ภายในเดือนเดียวจนเต็มวงเงิน ก็ยากที่จะชำระเงินได้ครบในระยะปลอดดอกเบี้ย ต้องจ่ายขั้นต่ำ แล้วก็กลายเป็นหนี้ระยะยาว

นอกจากนี้ ข้อดีของการเลือกทำบัตรเครดิตอีกอย่างก็คือ บัตรเครดิต สามารถใช้กดเงินสดเมื่อต้องการเงินฉุกเฉินได้เช่นกัน เท่ากับว่า แค่ทำบัตรเครดิตใบเดียวเท่านั้น ไม่ต้องทำบัตรกดเงินสดหรือขอสินเชื่อ  ก็จะได้มีภาระแค่บัตรเดียว ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องกังวลกับการเป็นหนี้หลายทางด้วย  เพราะถ้าเลือกทำบัตรสินเชื่อ ถึงได้เงินสดมาเสริมสภาพคล่องเป็นเงินก้อนก็จริง แต่ดอกเบี้ยยังสูงเท่าเดิม และไม่สามารถใช้งานในรูปแบบเดียวกับบัตรเครดิตได้ด้วย เรียกได้ว่า เป็นผลดีกับเด็กจบใหม่และคนวัยเริ่มต้นทำงานที่มีความต้องการบัตรสักใบมาช่วยเสริมสภาพคล่อง

สรุปแล้ว กฎเกณฑ์ใหม่ของ แบงก์ชาติที่ออกมาควบคุมวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิต ถ้ามองในภาพรวมถือว่า เป็นเรื่องที่ดีช่วยทำให้ลดปัญหาหนี้สินได้ในครัวเรือนได้  แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับวินัยทางการเงินของแต่ละคนด้วย เพราะถึงแม้ว่าแบงก์ชาติจะออกมาตรการกำกับวงเงินการขอสินเชื่อเพื่อควบคุมการขยายตัวของหนี้เอ็นพีแอลและหนี้ครัวเรือน แต่เป็นเพียงแนวทางแก้ปัญหาทางหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งในขณะเดียวกันรัฐบาล ก็ยังคงต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นการมีระเบียบวินัยทางการเงิน รวมถึงการวางแผนการใช้เงินของแต่ละคน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะช่วยลดการก่อหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อดีของกฎเกณฑ์ใหม่นี้ ก็คือ ทำให้คนที่กำลังจะใช้บริการบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดจากธนาคารต่างๆ ได้ตัดสินใจง่ายขึ้นว่าแบบไหนที่เหมาะและคุ้มค่ากับตัวเองมากที่สุด โดยไม่เดือดร้อนจากการเป็นหนี้ในภายหลัง